วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์เด็กปฐมวัยเมอร์ซี่ กทม. – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, บริษัท เบเยอร์ จำกัด และกรุงเทพมหานคร เปิดตัวโครงการ “โรงเรียนปลอดภัย ห่างไกลอัคคีภัยด้วยนวัตกรรมจากขยะอาหาร” ส่งต่อนวัตกรรมสารหน่วงไฟแคลเซียมคาร์บอเนตแปรรูปจากขยะเปลือกหอยสู่ “สีหน่วงไฟ” สีทาภายในอาคาร นำร่องลงพื้นที่ทาสีอาคาร ณศูนย์เด็กปฐมวัยเมอร์ซี่ (HDF Mercy Centre) เขตคลองเตย ก่อนขยายสู่พื้นที่ต่างๆ หวังยกระดับความปลอดภัยจากอัคคีภัยแก่ศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ชุมชนต่างๆ
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ และปัญหาที่สำคัญของประเทศ นาโนเทคเองก็มุ่งมั่นใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์อย่างเปลือกหอยร่วมกับภาคเอกชนที่มองเห็นโอกาสในการนำ วทน. ผสานกับจุดแข็งของแต่ละภาคส่วน สร้างนวัตกรรมที่ตอบความต้องการของชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศอย่างยั่งยืน”
ผลงานวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารหน่วงไฟจากนาโนแคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต/แคลเซียมคาร์บอเนต” โดย ดร. ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน (RNM) กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน (RMNS) โดยทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นั้น เป็นการแปรรูปขยะเปลือกหอย (หอยแมลงภู่, หอยนางรม ฯลฯ) เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตสารหน่วงไฟ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดให้ขยะเปลือกหอยเป็นวัสดุขั้นสูง สร้างมูลค่าให้กับขยะทางการเกษตร การเตรียมสารหน่วงไฟจากนาโนแคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต/แคลเซียมคาร์บอเนตสามารถเตรียมให้อยู่ในรูปแบบของแข็งลักษณะเป็นผง และของเหลวได้ ตัวอย่างการใช้งานของนาโนแคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต/แคลเซียมคาร์บอเนตสามารถทำให้กระจายตัวในน้ำสำหรับฉีดพ่นบนพื้นที่ต้องการให้มีคุณสมบัติหน่วงไฟ หรือผสมกับพอลิเมอร์เพื่อผลิตเป็นชิ้นงานที่มีคุณสมบัติหน่วงไฟ เช่น ผสมสารหน่วงไฟกับพลาสติกขึ้นรูปเป็นเส้นสำหรับการพิมพ์ชิ้นงานด้วยกระบวนการพิมพ์สามมิติ เป็นต้น
สำหรับโครงการ “โรงเรียนปลอดภัย ห่างไกลอัคคีภัยด้วยนวัตกรรมจากขยะอาหาร” เป็นการนำขยะอินทรีย์ของโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยเฉพาะเปลือกหอยนางรมเหลือทิ้งที่มีปริมาณมากถึง 1 ตันต่อเดือนจากห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ โกจิ คิทเช่น และบาร์ มาร่วมวิจัยและพัฒนากับนาโนเทค สวทช. ในการพัฒนาเป็น “สารหน่วงไฟ” ที่ดสอบแล้วพบว่า มีสมบัติการหน่วงไฟตามมาตรฐาน UL94 V-0 ที่สามารถดับไฟได้เองภายใน 10 วินาที และไม่มีเปลวไฟหยด จากนั้น เกิดการต่อยอดกับพันธมิตรอย่างบริษัท เบเยอร์ จำกัดในการพัฒนา “สีหน่วงไฟ” ที่เหมาะสำหรับการทาภายในอาคาร โดยเฉพาะในชุมชนที่มีกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ
คุณไซมอน เบลล์ ผู้บริหารโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กล่าวว่า โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมบริการ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และชุมชน ที่สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์ด้อยค่า ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าและช่วยยกระดับความปลอดภัยในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยจุดเริ่มต้นง่ายๆ อย่างการจัดการขยะประเภทต่างๆ อย่างเป็นระบบ แยกขยะอาหาร ไม่เทรวม เพื่อให้วัสดุที่มีคุณค่ามีที่ไปต่อผ่านฃการวิจัยและพัฒนาโดยนาโนเทค การจัดการขยะให้กลายเป็นทรัพยากรของโรงแรม และการพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์จริงโดยภาคเอกชนอย่างเบเยอร์ ทุกภาคส่วนต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่เพียงช่วยลดปัญหาขยะอาหาร แต่ยังสร้างคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ดร. วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ กล่าวว่า ตามปณิธานของเบเยอร์ เราไม่เคยหยุดเพียงแค่การให้สีสันที่สวยงามหรือความคงทน แต่เรามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยหัวใจของนวัตกรรม เพื่อส่งมอบสุขภาวะที่ดีและการปกป้องที่มากกว่าสำหรับผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร เราจึงเลือก BegerCool All-Plus Interior ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิและหน่วงไฟได้ในตัวแล้ว การร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการเสริมเกราะป้องกันอีกขั้น ผ่านนวัตกรรมจากสารเติมแต่งที่ต่อยอดจาก วัสดุเหลือใช้ทางอาหาร (food waste) โดย Marriott และการพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจาก นาโนเทค สวทช. ซึ่งโครงการนี้สะท้อนหัวใจของเบเยอร์อย่างชัดเจนว่า “สีที่ดี” ต้องไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นผิว แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืน และร่วมดูแลสังคมไปพร้อมกัน