กสทช. ร่วมมือกับองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) จัดการประชุม APT Symposium 2023
ในระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APT Symposium 2023 ในระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 ณ โรงแรม W Bangkok โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย Mr. Masanori Kondo เลขาธิการองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) เข้าร่วมและกล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้
การประชุม APT Symposium 2023 เป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก APT รวมถึงสมาชิกสมทบ
และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศได้พบปะและร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล วิสัยทัศน์ แนวทางการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลโทรคมนาคม/ICT ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) รวมถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก APT เข้าร่วมหลายประเทศ ได้แก่ ผู้แทนจากราชอาณาจักรภูฏาน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
รัฐเอกราชซามัว ไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ ผู้แทนจากสมาชิกสมทบ (Affiliate Members) และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ITU, CEPT และ RCC รวมจำนวนทั้งสิ้น 134 คน
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ Ms. Atsuko Okuda ผู้อำนวยการสำนักงานสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมกล่าว Keynote ในการประชุมช่วงที่ 1 “A success story of Inclusive Connectivity in Thailand” โดย นายต่อพงศ์ฯ ได้กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการที่สำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาและส่งเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ICT อาทิ โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน และโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,735 หมู่บ้าน เป็นต้น อีกทั้ง ในการประชุมช่วงที่ 2 “Understanding the digital divide and ensuring universal connectivity” นายนทชาติ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรผู้แทนประเทศไทย ในการให้ข้อมูลถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการสร้างความมั่นใจในการเชื่อมต่อ เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ อาทิ อุปสรรคในการเข้าถึงการเชื่อมต่อ กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในราคาย่อมเยาและเชื่อถือได้ นโยบายการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการผลักดันการลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งเน้นความเท่าเทียม
ทางดิจิทัล พร้อมทั้งเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของสำนักงาน กสทช. และประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ
เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ต่อไป