ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจ ของผลิตภาพจากกำลังแรงงานผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจ ของผลิตภาพจากกำลังแรงงานผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจ ของผลิตภาพจากกำลังแรงงานผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจจากรายงาน AGING WELL IN ASIA: ASIAN DEVELOPMENT POLICY REPORT ที่มีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่อยากนำมาแบ่งปันกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของการทำงานและการเกษียณอายุของผู้สูงอายุ ซึ่งรายงานฉบับนี้ข้อมูลของประเทศไทยบางส่วนได้ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย (Health, Aging, and Retirement in Thailand: HART), NIDA


จากรายงานฉบับนี้ พบว่าในปี 2021 ผู้สูงอายุชายที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีผู้ที่ยังอยู่ในกำลังแรงงานเป็นสัดส่วนสูงถึง 32.0% และสำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 15.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขโดยเฉลี่ยของ OECD (ผู้ชาย 20.7% ผู้หญิง 11.1%) โดยที่สัดส่วนของการอยู่ในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุชายมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2000 ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุหญิงที่ยังทำงานอยู่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับอายุเกษียณงานที่แท้จริงจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 51 ถึง 63 ปี รูปแบบการทำงานและการเกษียณอายุของผู้สูงอายุก็แตกต่างกันมากสำหรับแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบ แรงงานในพื้นที่ชนบทและเมือง


ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกพบว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนตั้งแต่ 64% ถึง 99% โดยเฉพาะผู้สูงอายุหญิงที่มีการศึกษาน้อยมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับประถมศึกษาเกษียณงานช้ากว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า ซึ่งแรงงานเหล่านี้จำนวนมากทำงานโดยไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานทางด้านร่างกาย แน่นอนว่าสุขภาพของแรงงานเหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมโทรมเมื่อมีอายุมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน การทำงานของผู้สูงอายุที่ยังมีความสามารถอยู่นั้นก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้พิจารณาเป็นทรัพยากรที่สำคัญเท่าไรนักในประเทศภูมิภาคนี้ แรงงานในระบบมักจะเกษียณงานทันทีหรือเกษียณงานก่อนกำหนดเมื่อตนนั้นมีสิทธิ์รับบำนาญ แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการทำงานได้และยังมีสุขภาพที่ดีอยู่ก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในรายงานนี้ “สำหรับผู้ชายในช่วงอายุ 55-69 ปีสามารถทำงานต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง โดยอิงจากสุขภาพของพวกเขาเอง โดยประมาณจะอยู่ที่ 0.3 ถึง 2.2 ปี (หรือ 4–26 เดือน) จากการศึกษาใน 7 จาก 8 ประเทศในเอเชีย พบว่ามากกว่า 80% ของผู้ชายอายุ 60-64 ปีมีสุขภาพดีเพียงพอที่จะทำงาน แต่ในกลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพนี้ 10%-23% ไม่ทำงานแล้ว ซึ่งสามารถคิดเป็นผลิตภาพ (productivity) ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากความสามารถในการทำงานที่ยังไม่ได้ใช้ในบรรดาผู้สูงอายุนี้ได้ถึงประมาณ 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศที่ศึกษา” ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นที่น่าสนใจมากต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐ

ที่มารูปภาพ: Asian Development Bank. (2024)
นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจดังนี้ นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่เป็นกำลังแรงงานนอกระบบจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญและยังต้องพัฒนาต่อไป การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการฝึกอบรมทักษะ และให้การเข้าถึงเครดิต การขยายการคุ้มครองแรงงานพื้นฐานควรรวมถึงการประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วย เบี้ยเลี้ยงทุพพลภาพ บำนาญ และโปรแกรมที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย
รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและนโยบายแรงงานเชิงรุกอื่นๆ สามารถทำให้ผู้สูงอายุยังคงมีผลิตภาพและมีงานทำได้ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ให้ทักษะที่ใช้ในการทำงานรวมถึงความรู้ดิจิทัล รัฐบาลสามารถเสนอมาตรการจูงใจให้นายจ้างว่าจ้างและคงไว้ซึ่งแรงงานสูงอายุ นโยบายที่ส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุสามารถลดผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคบางประการจากการสูงอายุของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของกำลังแรงงานและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคม

การเปลี่ยนสถานภาพจากการทำงานไปสู่การเกษียณงานควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นการทำงานแบบพาร์ทไทม์ ช่วยให้แรงงานสูงอายุขยายอายุงานแทนที่จะเกษียณงาน แต่จะต้องมั่นใจว่าระบบภาษีและบำนาญจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุที่ขยายอายุงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามอายุงานซึ่งแพร่หลายในหลายประเทศในเอเชียควรได้รับการปฏิรูปเพื่อทำให้การคงไว้ซึ่งการจ้างงานและการว่าจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุมีต้นทุนที่ผู้ว่าจ้างสามารถรับได้
เอกสารอ้างอิง
Asian Development Bank. (2024). Aging Well in Asia: Asian Development Policy Report.

#####