แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด ‘ไข้หวัดใหญ่’ ตัวนำร่องของโรคที่รุนแรงขึ้นและโรคแทรกซ้อน ‘ปอดอักเสบ – โรคหัวใจวาย – โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน – โรคหลอดเลือดสมอง’ อาจถึงขั้นป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด ‘ไข้หวัดใหญ่’ ตัวนำร่องของโรคที่รุนแรงขึ้นและโรคแทรกซ้อน ‘ปอดอักเสบ – โรคหัวใจวาย – โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน – โรคหลอดเลือดสมอง’ อาจถึงขั้นป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด
‘ไข้หวัดใหญ่’ ตัวนำร่องของโรคที่รุนแรงขึ้นและโรคแทรกซ้อน ‘ปอดอักเสบ – โรคหัวใจวาย – โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน – โรคหลอดเลือดสมอง’ อาจถึงขั้นป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

 

จากข่าวที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ป่วยวัยทำงานที่เป็นไข้หวัดใหญ่แล้วถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่าปี 2566 นี้ พอเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มเห็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงโควิด-19 ครองโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง บวกกับในช่วงนั้นประชาชนห่างหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง พอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราคนที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล ตรวจพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 15% (ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2566) ของคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในละติจูดตรงกลางระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ทำให้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่มีการระบาดหนักจะอยู่ในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม และจะระบาดอีกครั้งในช่วงอากาศเย็น เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ แต่เป็นช่วงที่มีการระบาดน้อยกว่า จากสถิติช่วงระบาดหนัก ตรวจพบผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดจะเป็นไข้หวัดใหญ่ 20-30% หรือบางปีตรวจพบสูงถึง 40% ของผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล

โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะก่อโรคในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็ก 100 คนในปีหนึ่งๆ จะติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 20-25% แต่ถ้าผู้ใหญ่ จะพบเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 10% โดยปัจจัยที่สำคัญของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ นอกจากฤดูฝนที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีชีวิตอยู่นาน ปัจจัยอีกประการ คือ โรงเรียนเปิด เด็กนักเรียนจะติดต่อส่งเชื้อให้กัน ทำให้เด็กอาจพาเชื้อไปสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุหากติดเชื้อแล้ว มีโอกาสที่โรคจะรุนแรง ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือหากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จากสถิติระบุว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงที่นอน ICU พบจำนวนที่เสียชีวิต อยู่ที่ 10% ของผู้ป่วยที่นอน ICU

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ เล่าให้เห็นถึงความอันตรายว่า ‘ไข้หวัดใหญ่เป็นตัวนำร่อง’ เป็นเชื้อโรคที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ตัวมันเองก่อโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้บ้างแต่ไม่มาก แต่ตัวที่มาซ้ำเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกาะในลำคอจะมีอันตรายมากกว่า ทำให้โรครุนแรงมากขึ้น โดยที่เวลาที่เราเป็นไข้หวัดใหญ่ทำให้เส้นทางเดินหายใจที่ลงไปที่ปอดมีการติดเชื้อ มีการอักเสบ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนทางเดินขรุขระ ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่ที่คอ แต่พอทางเดินขรุขระเชื้อแบคทีเรียก็จะไต่ลงไปที่ปอด เกิดภาวะปอดอักเสบ ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาจจะกระจายเข้าสู่เลือดเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้โรคหัวใจรุนแรงขึ้น จากปกติที่เป็นโรคหัวใจที่ไม่รุนแรง หรือหากไปอุดตันตามเส้นเลือดของสมอง ก็ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ เพราะฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึ่งรุนแรงและอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้รุนแรงขึ้นหลายชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคประจำตัว พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ยิ่งเป็นตัวเสริมทำให้คนที่เป็นโรคหัวใจอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มีภาวะหัวใจวาย หรือคนชรามากๆ พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงช้า ทำให้มีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ จึงเป็นที่มาของอันตรายจากโรคของหลอดเลือดที่ไปหัวใจและสมองได้

กลุ่มผู้สูงอายุ มีลักษณะอาจเรียกว่า ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาและทำให้เกิดความรุนแรงสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ‘ปอดอักเสบ’ ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ประชาชนจึงควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการป้องกันตามธรรมชาติอาจจะป้องกันได้บ้างแต่ยาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนที่จะแสดงอาการ ฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดและคุ้มค่าทางการแพทย์ โดยมีการศึกษามาอย่างยาวนาน ก็คือ ‘วัคซีน’ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับโรคได้ตลอดระยะเวลา ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนามาตลอดกว่า 80 ปี จึงมีความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์แล้ว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (Standard Dose) ซึ่งจะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ (ขนาด 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (High Dose) สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป* สามารถฉีดได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้น (ขนาด 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)

การมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนต่ำ จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ฉีดวัคซีนขนาดมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฎว่า ผู้สูงอายุบางรายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ไม่เหมือนกับช่วงอายุอื่นๆ จึงมีการศึกษาพัฒนาโดยการเพิ่มขนาดของตัวยาในแต่ละสายพันธุ์ เป็น 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ ผลการวิจัยพบว่าสามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีอาการได้สูงกว่าชนิดที่เป็นมาตรฐาน (15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์) ร้อยละ 24 และยังสามารถลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 แต่อาจพบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามมีความมั่นใจและปลอดภัยสูง เนื่องจากวัคซีนขนาดสูงได้ใช้อยู่ในประเทศยุโรป อเมริกา มานานมากกว่า 10 ปี และใช้มากกว่า 200 ล้านโดสแล้ว

*คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566

สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาล ปี 2566 ได้แก่
1. สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บัตรทองทุกแห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ ฟรี! สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี, ผู้มีโรคเรื้อรัง, ผู้พิการทางสมอง, โรคธาลัสซีเมีย, โรคอ้วน, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
· โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) / ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการ
· เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ (7 กลุ่มเสี่ยงสามารถจองคิวช่องทาง ‘กระเป๋าสุขภาพ’ บนแอปเป๋าตัง ได้ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. – 31 ส.ค. 2566)
2. สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ปีละ 1 ครั้ง ที่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
3. สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ทั้งจากโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐ หรือคลินิกเวชกรรม โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

# # # # #