วิกฤต PM 2.5 หลีกเลี่ยงได้ถ้าเราช่วยกัน

วิกฤต PM 2.5 หลีกเลี่ยงได้ถ้าเราช่วยกัน

วิกฤต PM 2.5 หลีกเลี่ยงได้ถ้าเราช่วยกัน


จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) มีประชากรประมาณ 6.7 ล้านคนต่อปี ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสาเหตุจากมลภาวะที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีมากกว่า 4 ล้านคนที่เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งมลภาวะในอากาศเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ PM 2.5 ที่กำลังเป็นภาวะวิกฤตที่สำคัญอยู่ขณะนี้ ซึ่งในกลุ่ม 6.7 ล้านคนที่เสียชีวิตพบว่า ประมาณ 43% เกิดจากถุงลมโป่งพอง 29% เสียชีวิตจากมะเร็งปอด 25% เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 25% เสียชีวิตจากอัมพฤกษ์อัมพาต และ 17% เสียชีวิตจากปอดอักเสบ


พันโท นายแพทย์ โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ก่อตั้งและซีโอโอ บ.สหเวชกิจ (ประเทศไทย) จำกัด (Allied Health (Thailand) Co.,Ltd) บริษัทที่เป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ และประสานการให้บริการจากสถานบริการที่มีมาตรฐานสำหรับผู้ต้องการรับบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ เผยว่า “มลพิษในอากาศเกิดจากหลายสาเหตุ

สาเหตุแรกที่เราทราบกันโดยทั่วไป คือ PM 2.5 และ PM 10 นอกจากนี้เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่นไนโตรเจนใดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เกิดเป็นสารพิษขึ้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นกรดตะกั่วเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน ฟอร์มัลดีไฮด์หรือเรดอน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันมีผลกระทบกับทั่วโลก
ในกรณีของ PM มี 2.5 เมื่อหายใจเข้าไป PM 2.5 ก็จะละลายเข้าไปอยู่ในกระแสโลหิตแล้วทำให้เกิดความผิดปกติตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หลอดเลือดหัวใจและสมอง จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีพิษต่อร่างกายอย่างมาก ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก แนะนำให้หลีกเลี่ยงโดยเฉพาะกรณีที่มีค่า PM 2.5 สูงเกินกว่า 15 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลสภาวะแวดล้อม AQI(Air Quality Index) ในปัจจุบัน เราพบว่าประเทศไทย ในภาคกลาง ภาคเหนือโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครฯ และ จังหวัดเชียงใหม่ มีมลภาวะสูงมากในบางช่วงสูงมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยิ่งมีค่า PM 2.5 สูง ความเป็นพิษยิ่งสูงตามไปด้วย


PM 2.5 ไม่ได้มีค่าสูงตลอดปี แต่เกิดเฉพาะในบางช่วงบางฤดูซึ่งอากาศปิด อากาศนิ่ง มลภาวะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากการเผาไหม้ของน้ำมันหรือว่าจากการเผาไร่อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันอยู่นิ่ง ลอยอบอวนอยู่ในอากาศ ไม่ถูกทำให้เจือจางลง จึงมีการสะสมของ PM 2.5 ได้มาก


องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำในการวางแผนจะรับมือมลภาวะที่สูงขึ้นโดยการ หนึ่งให้ความรู้กับบุคลากรหรือคนทั่ว ๆ ไปว่ามลพิษเหล่านี้มีสาเหตุเกิดจากอะไรและจะมีการป้องกัน หรือลดสาเหตุของการเกิดมลพิษนี้อย่างไร สองคือการตรวจติดตามสภาวะความเป็นพิษของอากาศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และสามคือการให้ข้อมูลวิธีป้องกันส่วนบุคคล สำหรับประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีข้อแนะนำว่าถ้า PM เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกมาศก์เมตร จะเป็นระดับความเป็นมลภาวะสูงเป็นอันตรายมาก แนะนำให้งดการออกกำลังกายในที่แจ้ง ถ้าเกิน 150 ต้องใส่หน้ากาก PM 2.5 หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ติดตั้งระบบกรองอากาศในที่พัก รวมถึงดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการหลายโครงการที่รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้มากขึ้นเพื่อลด PM 2.5 แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการหวังผลการลดจำนวนมลภาวะในระยะยาว รวมถึงมีการตรวจติดตามในอาคารว่ามีฝุ่นมากน้อยขนาดไหนหรือมีสารก่อมะเร็งไหม ในขณะที่ภาครัฐก็มีมาตรการเชิงกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อให้คนลดการก่อให้เกิด PM 2.5 เช่นมาตรการ การห้ามเผาป่า การห้ามเผาขยะ ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศน้อยเช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น


สุดท้ายการสู้กับมลภาวะทางอากาศหรือ PM 2.5 สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้ว่า มลพิษปัจจุบันมีค่าสูงมาก หรือน้อยอย่างไร สองคือรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อลดการก่อให้เกิดมลพิษ การป้องกันส่วนบุคคลโดยการหลีกเลี่ยง ต้องใส่หน้ากากไหม หรือติดเครื่องกรองอากาศในบ้านมากน้อยแค่ไหน การปลูกต้นไม้ ขอเพียงเราช่วยกันตระหนักรู้และพยายามไม่ทำให้เกิดมลภาวะมากขึ้น ก็มีส่วนช่วยในการลด PM 2.5 ได้ ขณะเดียวกัน การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมลพิษเช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคสมอง จึงมีความสำคัญเพื่อการมีสุขภาพที่ดี และลดโอกาสเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร” พันโท นายแพทย์ โชคชัย กล่าวทิ้งท้าย